ไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดปฏิบัติการฝนหลวง เติมน้ำในเขื่อนทั่วไทยแบบเต็มอิ่ม เริ่มต้นเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รับมือ “เอลนีโญ” หวั่นแล้งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 66 ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง สนามบินนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะที่ปรึกษา และคณะทำงานเข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานแก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยมีนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นางชุติมา เสชัง รองผู้ว่าฯ นครสวรรค์ และผู้แทน กรมชลประทาน ส่วนราชการ จ.นครสวรรค์ ร่วมต้อนรับและรายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ

ผู้แทนกรมชลประทาน รายงานยืนยันปัญหาปริมาณน้ำต้นทุนทั่วประเทศขณะนี้ เหลือไม่ถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนภาคกลาง ประกอบด้วย เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนภูมิพล และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บที่ใช้การได้เพียงร้อยละ 27 ซึ่งจะเกิดผบกระทบในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแน่นอนในช่วงฤดูแล้ง เพราะปีนี้ประเทศไทย กำลังประสบปัญหาเอลนีโญ อีกทั้งพบว่า ปริมาณอ่างเก็บน้ำสำคัญ 27 อ่างก็มีน้ำในอ่างไม่ถึง 100 ล้าน ลบ.ม.การเติมน้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเตรียมน้ำเพื่อสำรองไว้ใช้

จากนั้น นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรฯ ได้เปิดปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งการทำฝนหลวงครั้งนี้ มีหน่วยปฏิบัติการร่วมกัน 3 หน่วย ประกอบด้วยหน่วยจาก จ.กาญจนบุรี จ.ลพบุรี และ จ.นครราชสีมา แผนการบิน วันนี้เนื่องจากเป็นลมฝ่ายใต้ ภารกิจเริ่มต้นเวลา 09.30 น. จากหน่วยการบินเกษตร จ.นครราชสีมา จะขึ้นบิน ก่อเมฆ ใช้เครื่องบิน CN จำนวน 1 ลำ ดำเนินภารกิจ จากนั้นเวลา 10.30 น. หน่วย จ.ลพบุรี จะใช้เครื่องบิน CASA จำนวน 2 ลำ ทำการบินเพื่อเลี้ยงให้เมฆอ้วน เมื่อปฏิบัติการเรียบร้อย เครื่องบิน CARAVAN อีกจำนวน 2 ลำ จะขึ้นเลี้ยงเมฆให้อ้วนเพิ่มปริมาณน้ำในก้อนเมฆให้ได้มากที่สุดจากนั้น ขั้นตอนที่ 3 จะใช้เครื่องบิน SKA จำนวน 1 ลำ บินมาจาก จ.นครราชสีมา ทำการบินโจมตีเพื่อทำฝน ให้ตกลงในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

นายไชยา กล่าวว่า ปฏิบัติการทำฝนหลวง มีช่วงเวลาที่จำเป็นในการเติมน้ำ บางครั้งถูกต่อว่าเพราะประชาชนมองว่ามีฝนตก แต่ข้อเท็จจริง ฝนที่ตกลงมาไม่มีน้ำไหลเข้าเขื่อนจนทำให้เกิดปัญหาวิกฤติในช่วงฤดูแล้ง อีกทั้ง การคาดการณ์ต่อปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ทั่วประเทศเกิดความแห้งแล้ง การเติมน้ำจึงจำเป็นที่จะต้องเติมให้เพียงพอ จึงได้ทำการสนับสนุนภารกิจนี้ภายใต้ยุทธการ “การเติมน้ำแบบเต็มอิ่ม” ให้กับเขื่อนสำคัญทั่วประเทศ

“ขณะนี้เพื่อเตรียมการรับมือกับภัยแล้ง “เอลนิโญ” ตนได้รายงาน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับภารกิจ เพื่อดึงเอา กรมฝนหลวงและการบินเกษร เข้าไปร่วมเป็นองคาพยพในการสู้วิกฤติภัยแล้ง ทั้งนี้จะขอสนับสนุนงบประมาณให้กับกรมฝนหลวงฯ เนื่องจากเครื่องบินฝนหลวงที่ใช้ในการทำเมฆเย็นที่ระดับความสูงเกินหมื่นฟุตขึ้นไป คือเครื่องบิน SKA ซึ่งปัจจุบัน มีเพียง 3 ลำที่สามารถบินทำฝนได้สูงเกินหมื่นฟุต ที่จะไม่เพียงพอกับการพัฒนาเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ ทั้งเครื่องมือและบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมในทุกภาระกิจ จึงจำเป็นที่ต้องมีเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะในภาคอีสานทำได้เพียงความเชื่อ ไม่มีฝนก็แห่นางแมว จุดบั้งไฟ แต่กรมฝนหลวงคือศาสตร์พระราชาที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก กรมชลประทานมีหน้าที่เก็บน้ำ แต่ฝนหลวงคือกรมฯ ที่หาน้ำมาเติมในเขื่อน” นายไชยา กล่าว

ที่มา – ไทยรัฐ

สำหรับคุณ